Painting Plants | เฉดสีเบญจมาศ

SynBio Column Recent Research Roundup | RRR EP. 02
[SynBio RRR EP. 02]

ปรับเฉดสีดอกเบญจมาศด้วย CRISPR Epigenome Editing

 
ใกล้ถึงวันวาเลนไทน์แล้ว ซื้อดอกไม้ให้ตัวเองหรือยังครับ~~~ อ้างอิงจากกรมวิชาการเกษตร ไม้ดอกไม้ประดับมีมูลค่าทางการตลาดในประเทศไทยอยู่มหาศาล โดยเฉพาะกล้วยไม้ ดาวเรือง และเบญจมาศ [1] แต่ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีพันธุ์ไม้ดอกมากมายให้เลือกปลูกเลือกซื้อ แต่ก็ใช่ว่าเราจะสามารถเสกสีสรรค์ให้ดอกไม้มีสีได้ตามใจไปเสียทุกแบบ ลองจินตนาการดูว่า ตลาดไม้ดอกไม้ประดับจะเป็นอย่างไรถ้าเราสามารถออกแบบดอกไม้ให้มีรูปแบบและสีสันตามต้องการได้? ไม่กี่เดือนก่อนนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จากประเทศจีนได้ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อเปลี่ยนสีของดอกเบญจมาศโดยการแก้ไขในระดับ epigenetics จากสีเหลืองให้เป็นสีชมพูแทน [2] แต่มันต่างไปจากการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติหรือการตัดต่อพันธุกรรมที่เคยทำกันมาอย่างไร บทความนี้จะมาชวนคุยเทคโนโลยีนี้ในบริบทของชีววิทยาสังเคราะห์ (SynBio) กันครับ

 

เก๊กฮวย ดอกไม้สีทองแห่งเอเชียตะวันออก

 
ดอกเบญจมาศหนู (Chrysanthemum morifolium) หรือดอกเก๊กฮวย มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมานับพันปี ดอกไม้ชนิดนี้มีต้นกำเนิดในประเทศจีนจากการผสมข้ามพันธุ์ของดอกไม้ป่าหลายชนิดในสกุล Chrysanthumum โดยชื่อของมันมาจากภาษากรีก khrusanthemon ซึ่งหมายถึง “ดอกไม้สีทอง” (ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับคำวิวาทที่นิยมใช้ในวรรณคดีไทย) ในเวลาต่อมา ดอกเบญจมาศถูกนำเข้าจากจีนไปในประเทศญี่ปุ่นระหว่างศตวรรษที่ 6 ถึง 8 และได้กลายเป็นตราสัญลักษณ์ของราชวงศ์ญี่ปุ่นในรัชสมัยของจักรพรรดิโกะ-โทบะ (Go-Toba tennō) [3] ปัจจุบันดอกเบญจมาศยังปรากฏอยู่บนเหรียญ 50 เยนและหนังสือเดินทางของญี่ปุ่นอีกด้วย (ดูภาพประกอบ)
 
แม้ว่าดอกเบญจมาศจะเป็นดอกไม้ตัดยอดนิยมอันดับสองของโลก (รองจากกุหลาบ) การพัฒนาสายพันธุ์ของดอกเบญจมาศหนูนั้นมีความท้าทายเป็นอย่างมากเนื่องจากโครงสร้างทางพันธุกรรมที่ซับซ้อน ดอกเบญจมาศหนูที่ปลูกในปัจจุบันมักมีชุดโครโมโซมมากถึงหกชุด (hexaploid) อีกทั้งยังผสมตัวเองไม่ติด (self-incompatible) อีกด้วย [4] ก็คือต้องให้คนหรือแมลงช่วยผสมเกสรข้ามต้นไป นอกจากนี้ การศึกษาและวิเคราะห์ลำดับดีเอ็นเอยังทำได้ยากเนื่องจากขนาดจีโนมที่ใหญ่และลำดับดีเอ็นเอที่ซ้ำซ้อนเป็นจำนวนมาก โดยกว่า 80% ของยีนนั้นอาจจะไปซ้ำกันกับยีนอีกชุดหนึ่งที่อยู่ในโครโมโซม 54 ชิ้นของมัน โดยถ้าเทียบกับมนุษย์แล้ว จีโนมของมนุษญ์มีความซ้ำซ้อนอยู่แค่ราวๆ 50% และมีขนาดของจีโนมเล็กกว่าเบญจมาศหนูกว่าครึ่งหนึ่งเสียอีก

การคัดเฉดสีดั้งเดิมแบบเมนเดล

 
ย้อนกลับไปอีกหน่อย ไปถึงสมัยที่ลุง Gregor Johann Mendel ยังผสมถั่วลันเตาเล่นอยู่หลังโบสถ์ในจักรวรรดิออสเตรีย การคัดเลือกพันธุ์ให้ได้ดอกไม้สีทองเปล่งประกายเจิดจรัสสดใหม่ยังไปไม่ถึงขั้นลำดับ DNA เลย หลักการของลุงเมนเดลคือการเอาถั่วมายำผสมกันแบบเป็นระบบระเบียบแล้วจดบันทึกเป็นอย่างดี หากเล่าในมุมของดอกเก๊กฮวยก็คงเหมือนกับเอาดอกที่มีสีเหลืองทองมาผสมกันเรื่อย ๆ ให้สีทองมันชัดขึ้นจากการที่ชุดยีนที่แสดงออกสีเหลืองเยอะ ๆ มันมีปริมาณมากขึ้น โดยเฉพาะในพืชที่โครโมโซมหลายชุด (polyploidy) [5] การเพิ่มความถี่ของยีนจึงเป็นไปได้ง่ายกว่าในคนที่มีโครโมโซมสองชุด หรือในแบคทีเรียมีอยู่ชุดเดียว โดยที่อาจจะไม่ต้องเกิดการกลายพันธุ์ที่ลำดับเบสมากมายจนสีเหลืองแรงขึ้น อธิบายด้วยภาษาดอกไม้ก็คงเหมือนกับว่าการเลือกดอกไม้ให้กับคู่ชีวิตของเราในวันพิเศษ หากเราตั้งใจจะมอบดอกไม้แค่ดอกเดียว เราก็คงต้องพยายามคุ้ยหาดอกที่สวยที่สุด (ทองที่สุด) เอามาให้ได้ อาจจะต้องใช้เวลาในการหาการกลายพันธุ์ที่ดีสักระยะมันถึงจะออกมาสีทองสวยต้องตาได้ แต่หากเราเลือกที่จะให้เป็นช่อสักหกดอก เราอาจจะไม่จำเป็นต้องให้ทุกดอกสีทองที่สุด เพียงแค่ให้มันมีประกายสีทองอย่างพอเหมาะมากประกอบรวมกันแต่ดูรวม ๆ แล้วมีเสน่ห์พอประมาณ เมื่อเวลาผ่านไปเราเลือกเจอดอกไม้ที่สีทองกว่าดอกที่ขาวที่สุดเราก็เอามาแทนที่ หากทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เจ้าชุดโครโมโซมเหล่านี้ก็จะมีสีทองโดยรวมที่มากขึ้นแบบไม่ฝืนธรรมชาติจนเกินไป นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ว่าทำไมการเปลี่ยนสีในดอกไม้ถึงได้มีเฉดออยู่มากมายโดยเฉพาะกลุ่มที่เป็น polypoid ที่เล่ามานี้อาจจะมุ่งประเด็นสีทองมากเกินไปจนลืมไปว่าสีที่เราอยากได้ในวันหวาน ๆ มันสีชมพูต่างหากละเห้ย!!! แล้วเราจะเปลี่ยนสีทองเป็นสีชมพูยังไงดีในขณะที่ดอกเก๊กฮวยทั้งตลาดก็มีแต่สีขาวไปจนสีเหลืองทอง ในเวลานี้เองจึงเป็นจังหวะให้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ปรับแต่งสิ่งมีชีวิตได้ราวกับเวทมนต์

 

CRISPR แบบไม่ตัด แต่เน้นเติมสี

 
งานวิจัยล่าสุดนี้ได้มีการใช้เทคโนโลยี CRISPR-Cas9 เข้ามาปรับการแสดงออกของยีน CmMYB6 ซึ่งควบคุมการผลิตแอนโทไซยานิน—เม็ดสีที่ทำให้เกิดโทนสีชมพู/ม่วงในดอกไม้ชนิดนี้ และพืชชนิดอื่น ๆ รวมไปถึงองุ่นม่วงที่ส่งให้ไวน์มีสีแดงเข้มเช่นกัน ในธรรมชาติของดอกเบญจมาศ การแสดงออกของ CmMYB6 ในระดับสูงจะทำให้ดอกเบญจมาศมีสีชมพู ในขณะที่การแสดงออกในระดับต่ำจะทำให้ได้สีที่อ่อนลง เช่น สีขาวหรือสีเหลือง (ขึ้นกับว่าในสายพันธุ์นั้นมีสารแคโรทีนอยด์ที่มีสีเหลืองอยู่หรือไม่) คำถามที่สำคัญของงานนี้ก็คือ ทีมวิจัยนี้ปรับการทำงานหรือการแสดงออกของยีน CmMYB6 ได้อย่างไร? จะใส่ชิ้นส่วนยีน CmMYB6 เข้าไปเพิ่มดี หรือว่าจะลองตัดชิ้นยีน CmMYB6 ให้ไม่สามารถทำงานได้ในจีโนมของดอกเบญจมาศหนูโดยตรง ทั้งสองเทคนิคนี้อาจจะมีความยุ่งยากจากความซับซ้อนของจีโนมดอกไม้สีทองนี้ ดังนั้นทีมวิจัยนี้จึงได้เลือกควบคุมในระดับ epigenetics แทน โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงที่ตัวลำดับดีเอ็นเอทีมีความซับซ้อนนี้ แต่ใช้เทคนิคที่เหมือนการป้ายสี DNA ให้สีเข้มขึ้นหรืออ่อนลงคล้าย ๆ กับดอกไม้ของเรานี่เอง 
บทบาทของ epigenetics  ในบริบทนี้ (“epi-” แปลว่า “on top of”) เป็นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่ไม่ได้ปรับลักษณะทางพันธุกรรมจากธรรมชาติมากจนเกินไป ถ้าเปรียบเทียบเป็นพัดลมในห้องร้อน ๆ การใส่หรือตัดชิ้นส่วนยีน (genetic engineering) ก็เหมือนกับการนำพัดลมอันใหม่มาวางในห้องหรือทุบทำลายพัดลมที่มีอยู่ ในขณะที่การเปลี่ยน epigenetics จะเหมือนกับการกดเปลี่ยนเบอร์ของพัดลมให้แรงขึ้นหรือเบาลง (ย้อนไปอ่าน SynBio Column RRR Ep. 01 สำหรับคำอธิบายอีกรูปแบบหนึ่งได้ครับ [6]) ความพิเศษเพิ่มเติมของการปรับความแรงพัดลมดอกเบญจมาศก็คือการที่มันมีพัดลมอยู่ในห้องหลายตัวมาก ๆ แล้วพัดลมแต่ละตัวก็รับสัญญาณรีโมทอันเดียวกันได้ การปรับความแรงลมนี้จึงส่งผลกับพัมลมหลาย ๆ ตัว หรือยีน CmMYB6 ที่กระจายตัวอยู่บนโครโมโซมต่าง ๆ ได้พร้อมกัน

 

ปรับแต่งจีโนมแบบไม่เปลี่ยนรหัส เปลี่ยนที่วิธีอ่าน

 
ในเมื่องานนี้ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การตัดแก้ไขลำดับดีเอ็นเอ รูปแบบของตัวโปรตีน CRISPR-Cas9 ที่มักถูกเปรียบเทียบว่าเป็นกรรไกรระดับโมเลกุลจึงไม่ได้ถูกนำมาใช้ แต่ใช้เทคโนโลยีเวอร์ชันปรับปรุงที่เรียกว่า CRISPR-dCas9 (deactivated Cas9) ที่ถูกดัดแปลงให้กรรไกรทื่อจนไม่อาจตัด DNA ได้อีกต่อไป [7] แต่คงความสามารถในการจับกับ DNA ในตำแหน่งจำเพาะด้วย guide RNA sequence ตามแบบเดิม ในงานวิจัยดอกเบญจมาศนี้ ทีมนักวิจัยได้เชื่อมเอนไซม์ DNA methyltransferases เข้ากับ dCas9 โดยเอนไซม์นี้สามารถเพิ่มหมู่เมทิล (methyl group) เข้าไปที่เบส cytosine (C) ใน DNA และส่งผลให้การอ่านข้อมูลระดับ DNA นี้เปลี่ยนแปลงไป ในกรณีนี้คือเพิ่มการแสดงออกของยีนที่ทำให้เกิดสีชมพูในดอกเบญจมาศหนูนี้เอง
 
หากเราลองเจาะลึกไปที่การทดลองของทีมนี้ จะพบว่าทางทีมได้มุ่งเป้าไปที่บริเวณ promoter ที่อยู่ด้านหน้าของยีน CmMYB6 หากจะเปรียบเทียบง่าย ๆ ก็คล้ายกับรอยต่อถนนว่าสามารถรองรับการผ่านทางของยานพาหนะได้มากน้อยแค่ไหน การเติมหมู่เมทิลในบริเวณนี้จะมีผลต่อการแสดงออกของยีน ที่น่าสนใจคือ เอนไซม์ DNA methyltransferases แต่ละตัวแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างกัน เมื่อใช้เอนไซม์ CmDRM2a ดอกไม้ที่ได้จะมีสีขาวซึ่งเป็นผลจากการสร้างโปรตีน CmMYB6 ที่เกิดขึ้นน้อยลง ในทางกลับกัน การใช้เอนไซม์ CmDRM2b หรือ CmCMT2 จะทำให้ดอกไม้มีสีชมพูที่เข้มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการสร้างโปรตีน CmMYB6 ที่เกิดมากขึ้น ความแตกต่างนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เอนไซม์เลือกเติมหมู่เมทิลใน promoter โดย CmDRM2a ไม่ได้เติมหมู่เมทิลในตำแหน่งที่สำคัญ ในขณะที่ CmDRM2b และ CmCMT2 เติมหมู่เมทิลในบริเวณนั้นอย่างสมบูรณ์ ผลการทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่าการเติมหมู่เมทิลในตำแหน่งเฉพาะอาจช่วยปลดล็อกการแสดงออกทางพันธุกรรมของ CmMYB6 และเพิ่มการผลิตเม็ดสี anthocyanin ในดอกเบญจมาศนี้จนทำให้มันมีสีชมพู และอาจจะนำไปปรับใช้ในไม้ดอกไม้ประดับชนิดอื่น ๆ ได้เช่นกัน

 

วิศวกรรมพันธุ์พืชแบบปลอกเปลือกเซลล์

 
ในวงการเทคโนโลยีชีวภาพและชีววิทยาสังเคราะห์นั้น การปรับปรุงสายพันธุ์พืชขึ้นชื่อว่าเป็นกระบวนการที่ทำได้ช้าเมื่อเทียบกับสิ่งมีชีวิตอื่น ซึ่งในงานนี้ ทีมวิจัยได้ก็พยายามพัฒนาวิธีการใหม่ๆ เพื่อร่นระยะเวลาการทำงานในเร็วขึ้น เช่นตอนที่ดูผลการเติมหมู่เมทิลของเอนไซม์ DNA methyltransferases แต่ละตัว ก็มีการทดสอบในระดับเซลล์ protoplast ก่อนโดยไม่ต้องรอต้นไม้โต ซึ่งวิธีการได้มาก็ถือว่าน่าสนใจมากทีเดียว ทางทีมวิจัยใช้เทปกาวลอกเซลล์ผิวใบออก แล้วใส่เอนไซม์ย่อยผนังเซลล์พืชเข้าไป จนได้ protoplast ที่ไม่มีผนังเซลล์ออกมา จากนั้นก็นำเอา protoplast นี้มาใช้ในการทดลองดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อมีการเปลี่ยน methylation pattern ในรูปแบบต่าง ๆ กระบวนการนี้ทำให้สามารถย่นระยะเวลาการทำงานจากหลักหลายเดือนเป็นระดับสัปดาห์เท่านั้นเอง หากย้อนกลับมามองที่อุตสาหกรรมไม้ดอกไม้ประดับในประเทศไทยแล้ว การประยุกต์ใช้ epigenetics ในการปรับปรุงพันธุ์นับว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจไม่แพ้การดัดแปลงลำดับดีเอ็นเออย่างแน่นอนและอาจจะนำไปปรับใช้กับพืชเศรษฐกิจพันธุ์อื่น ๆ อย่างกล้วยไม้และดาวเรืองได้เช่นกันหากเราลงทุนในด้านนี้อย่างจริงจังและเป็นระบบ
 
ในประเทศญี่ปุ่น ดอกเบญจมาศเป็นสัญลักษณ์ของความปรารถนาดีและชีวิตที่ยืนยาว  ขณะที่ในบางส่วนของยุโรปมันได้กลายเป็นตัวแทนของการไว้อาลัยต่อผู้วายชนม์ ในงานวิจัยชิ้นนี้การเปลี่ยนแปลงของสีดอกเบญจมาศได้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์และนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ ที่กำลังเบ่งบานในฐานะสัญลักษณ์แห่งความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในอนาคตเราคงได้เห็นการปรับแต่งลักษณะที่ซับซ้อนมากขึ้น และในสายพันธุ์พืชที่หลากหลายมากขึ้น จากที่เคยปรับได้แค่สีดอก สีใบ อาจจะสามารถปรับปรุงได้ทั้งขนาด รูปแบบแต้มสี หรือกลิ่นใหม่ๆ ที่ธรรมชาติไม่เคยลองใช้มาก่อนก็เป็นได้

References

(1) เสาวลักษณ์ กิตติธนวัตร. สถานการณ์และทิศทางไม้ดอกไม้ประดับของประเทศไทยในปี 2563; กรมวิชาการเกษตร. https://www.doa.go.th/hort/wp-content/uploads/2020/03/สถานการณ์และทิศทางไม้ดอกไม้ประดับของประเทศไทยในปี-2563.pdf.

(2) Li, X.; Bu, F.; Zhang, M.; Li, Z.; Zhang, Y.; Chen, H.; Xue, W.; Guo, R.; Qi, J.; Kim, C.; Kawabata, S.; Wang, Y.; Zhang, Q.; Li, Y.; Zhang, Y. Enhancing Nature’s Palette through the Epigenetic Breeding of Flower Color in Chrysanthemum. New Phytol. 2024. https://doi.org/10.1111/nph.20347.

(3) Kogei Art, K. The Chrysanthemum and Japan: A Timeless Connection in the Days Leading to Choyo no Sekku. https://kogeiart.kyoto.jp/articles/post-2754/ (accessed 2024-09-06).

(4) Song, A.; Su, J.; Wang, H.; Zhang, Z.; Zhang, X.; Van de Peer, Y.; Chen, F.; Fang, W.; Guan, Z.; Zhang, F.; Wang, Z.; Wang, L.; Ding, B.; Zhao, S.; Ding, L.; Liu, Y.; Zhou, L.; He, J.; Jia, D.; Zhang, J.; Chen, C.; Yu, Z.; Sun, D.; Jiang, J.; Chen, S.; Chen, F. Analyses of a Chromosome-Scale Genome Assembly Reveal the Origin and Evolution of Cultivated Chrysanthemum. Nat. Commun. 2023, 14 (1), 2021. https://doi.org/10.1038/s41467-023-37730-3.

(5) McCarthy, E. W.; Arnold, S. E. J.; Chittka, L.; Le Comber, S. C.; Verity, R.; Dodsworth, S.; Knapp, S.; Kelly, L. J.; Chase, M. W.; Baldwin, I. T.; Kovařík, A.; Mhiri, C.; Taylor, L.; Leitch, A. R. The Effect of Polyploidy and Hybridization on the Evolution of Floral Colour in Nicotiana (Solanaceae). Ann. Bot. 2015, 115 (7), 1117–1131. https://doi.org/10.1093/aob/mcv048.

(6) Kiattisewee, C. DNA Letter | จดหมายดีเอ็นเอ. Thailand SynBio Consortium. https://www.th-synbioconsortium.com/บทความ/dna-letter/ (accessed 2025-02-03).

(7) Hochstraasser, M.; Ford, T.; Henderson, H.; Doxzen, K.; Tolpa, T.; Cheung, B.; Ramit, G.; Murdock, A.; Wilson, R. CRISPRpedia | CRISPR Technology; Innovative Genomics Institute, University of California, Berkeley, 2022.

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความ
SynBio Column Recent Research Roundup | RRR [EP.1] พิมพ์หนังสือทั้งเล่มด้วยดีเอ็นเอ   จดหมายพัสดุของคุณกำลังถูกส่งไปที่บ้านของคุณภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ นี่เป็นข้อความที่เข้ามาในอีเมลของผมหลังจากสั่งซื้อหนังสือที่เขียนลงบนดีเอ็นเอ (DNA) เล่มแรกของ Asimov Press(1) สำนักข่าวออนไลน์ที่ตั้งอยู่ในเมือง...
บทความ
Synthetic Biology: เมื่อมนุษย์กลายเป็นนักประดิษฐ์ชีวิต [EP.1]    “ยุคนี้คือยุคแห่ง ai แต่ยุคต่อไปคือยุคของเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology)” เพราะความก้าวหน้าแห่งเทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่อาจจะทำให้ “มนุษย์ทำอะไรต่อมิอะไรได้ไม่ต่างพระเจ้า”   ประโยคนี้แม้จะฟังดูอหังการ์ แต่ว่าก็มีเค้ารางของความเป็นจริ...
บทความ
มาทำความรู้จัก Synbio นวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในระดับ DNA ไปจนถึงพลิกโลกอุตสาหกรรม. Synthetic Biology เรียกย่อว่า SynBio หรือ ชีววิทยาสังเคราะห์ คือ การออกแบบ สร้าง ปรับแต่ง ไปถึงระดับ DNA เพื่อให้เซลล์เกิดการทำงานในรูปแบบใหม่ หรือพัฒนาไปในทางอื่นๆ ที่ดีขึ้น ซึ่ง SynBio นี้จะคล้ายคลึงกับการพั...
บทความ
ผศ. ดร. ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หรือผู้ก่อตั้ง Facebook page “Biology Beyond Nature: ชีววิทยาเหนือธรรมชาติ” ที่มีผู้ติดตามกว่า 46k คน ได้ปล่อยซีรี่ย์การสอนหัวข้อ  “ชีววิทยาสังเคราะห์และพันธุวิศวกรรมระดับจีโนม” ทั้งหมด 12 ตอน ท่านใดที่สน...