วันที่ 22 เมษายน 2567 ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้รับเชิญปาฐกถาในงาน Global Forum on Technology ของ OECD ร่วมกับ Mr. Ulrik Vestergaard Knudsen รองเลขาธิการ OECD Ms. Aisén Etcheverry Escudero รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี องค์ความรู้ และนวัตกรรม ประเทศชิลี และ Mr. Mohammed Belhocine กรรมาธิการด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม คณะกรรมาธิการสหภาพแอฟริกา ธีมงานของปีนี้คือ “การสร้างอนาคต: ประเด็นและโอกาสเชิงนโยบายสำหรับเทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่”
ดร.กิติพงค์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่ที่จะส่งผลกระทบสูงต่ออุตสาหกรรมอาหารซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของไทย ในเชิงนโยบายประเทศไทยรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพโดยได้ส่งเสริมการลงทุน Biocomplex ในหลายจังหวัด สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG และหนุน New S Curve เทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่จะช่วยผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารอนาคต ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตในกลุ่มมันและอ้อยจากการผลิตแป้งที่มีราคาถูก เป็นสารมูลค่าสูงในอุตสาหกรรมอาหารอนาคต ได้แก่กลุ่มอาหารและสารประกอบเชิงฟังก์ชัน (functional food and functional ingredients) อาหารทางการแพทย์ (medical food) และโปรตีนทางเลือก (alternative protein)
อีกทั้ง ดร.กิติพงค์ยังกล่าวถึงนโยบายของไทยที่มุ่งเน้นสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรมให้กับ SME และการพัฒนากำลังคนผ่านหลักสูตรแซนบ็อกซ์ ที่ช่วยสร้างกำลังคนสมรรถนะสูง ลดระยะเวลาการเรียนและตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันกว่า 70 บริษัทได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ การสร้างศักยภาพด้านเทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างอนาคตร่วมกัน
การเข้าร่วมงาน GFTech ของ สอวช. ครั้งนี้ ได้ร่วมเดินทางกับคุณกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บีบีจีไอ (BBGI) เป็นวิทยากรตัวแทนประเทศไทยในช่วงการเสวนา เรื่อง การผลิตอย่างยั่งยืน: เศรษฐกิจชีวภาพและอื่น ๆ คุณกิตติพงศ์ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย ทั้งการลงทุนขนาดใหญ่ในโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง (Contract Development and Manufacturing Organization: CDMO) ที่มีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์จำนวนมาก นโยบายการดึงดูดการลงทุนของภาครัฐ และความพร้อมของประเทศไทยด้านการขยายขนาด (scale up) ที่จะเชื่อมโยงและส่งต่อการวิจัยและพัฒนาระหว่างภาครัฐและเอกชน
ในงานยังมีวงเสวนาด้านอื่น ๆ ได้แก่ นวัตกรรมด้านสาธารณสุข การปรับตัวด้านเกษตรอาหารและสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบในการสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยีสำคัญที่ถูกกล่าวถึงในงานได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพสังเคราะห์ (synthetic biology) ยีนไดรฟ์ (gene drive) และเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (cultivated meat) ประเด็นสำคัญที่นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัย ภาครัฐ และสตาร์ทอัพจากทั่วโลกเน้นย้ำ คือการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศและความสำคัญของนโยบายภาครัฐที่จะช่วยส่งเสริมการเข้าถึงและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่ ได้แก่ การสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยี การสร้างศักยภาพด้านข้อมูลและ AI ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีชีวภาพ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการตรวจสอบด้านความปลอดภัยทางชีวภาพที่รวดเร็ว การผ่อนปรนและลดอุปสรรคด้านกฎหมาย กฎระเบียบ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของกฎหมายที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการสร้างนวัตกรรมของสตาร์ทอัพ การสื่อสารและสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนให้เห็นประโยชน์ของเทคโนโลยี เนื่องจากเทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่จะสร้างผลกระทบสูงและสร้างความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทานในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ ยา อาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ ควรสื่อสารและส่งเสริมให้เกิดความรับผิดชอบต่อการสร้างนวัตกรรมและจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยี
ผู้จัดงานได้ปิดท้ายว่า GFTech จะไม่จบที่การประชุมในครั้งนี้ แต่จะมีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่ร่วมกันต่อไป