26 มีนาคม 2568 ณ ห้อง CC-305 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย – ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในงานวิจัยด้านชีววิทยาสังเคราะห์” ซึ่งได้รับความสนใจจากนักวิจัย นักศึกษา และตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชน
งานสัมมนานี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทของ AI ในการพัฒนาชีววิทยาสังเคราะห์ ตั้งแต่การคัดเลือกยีนและเซลล์เจ้าบ้าน การออกแบบวิถีเมตาโบลิก ไปจนถึงการปรับแต่งรูปแบบการแสดงออกของยีน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสารชีวภาพที่มีมูลค่าสูง
งานสัมมนาเริ่มต้นในเวลา 09.30 น. โดย ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง รักษาการรองผู้อำนวยการ BIOTEC ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน และดำเนินรายการโดย ดร.วีรวัฒน์ รังกุพันธุ์ หัวหน้าทีมวิจัยระบบจุลินทรีย์เพื่อผลิตชีวโมเลกุล
ช่วงแรกของงานเป็นการบรรยายเกี่ยวกับบทบาทของชีววิทยาสังเคราะห์ในอุตสาหกรรมชีวภาพ โดย ดร.วีระวัฒน์ แช่มปรีดา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยีนี้ในการเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม และแนวทางการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
ต่อด้วยการบรรยายเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ได้แก่
– “AI-Assisted Protein Folding and ML-Guided Optimization of Bioactive Compounds”
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธัญญดา รุ่งโรจน์มงคล จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกล่าวถึงการใช้ AI และ Machine Learning (ML) ในการพยากรณ์โครงสร้างโปรตีน และการพัฒนาโมเลกุลที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ
– “Combined Rational Metabolic Engineering Design and Metabolic Evolution to Achieve Efficient Biochemical Productions”
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เขมวิทย์ จันต๊ะมา หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งอธิบายถึงการออกแบบวิศวกรรมเมตาบอลิกร่วมกับกระบวนการวิวัฒนาการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสารเคมีชีวภาพ
– “Machine Learning-driven Design of Microbial Strains and Pathways for High-value Compound Production”
โดย ดร.พีรพัฒน์ คำวชิรพิทักษ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนำเสนอการใช้ Machine Learning ในการออกแบบสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่สามารถผลิตสารชีวภาพที่มีมูลค่าสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
– “Machine Learning-Guided Discovery of Promising Enzymes for Bioindustry”
โดย คุณวุฒิชัย เหมือนทอง นักวิจัยจาก BIOTEC ซึ่งพูดถึงแนวทางการใช้ Machine Learning ในการคัดเลือกเอนไซม์ที่มีศักยภาพสูง เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมชีวภาพ
เสวนา: อนาคตของชีววิทยาสังเคราะห์ในภาคอุตสาหกรรม
ช่วงสุดท้ายของงานเป็นการเสวนาในหัวข้อ “มุมมองการใช้ Synthetic Biology สำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ” โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทั้งภาคการศึกษาและภาคเอกชนร่วมอภิปราย ได้แก่
– ศาสตราจารย์ ดร.อลิสา วังใน Chief Technology Officer บริษัท ไบโอม จำกัด
– รองศาสตราจารย์ ดร.เขมวิทย์ จันต๊ะมา หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
– ดร.นาวิน วิริยะเอี่ยมพิกุล หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
– ดร.วศิมน เรืองเล็ก Climate Impact & Circularity Senior Alliance Manager บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน)
– ดร.กันตพิชญ์ ปรีดากรณ์ นักพัฒนานโยบาย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ
– ดร.พีรพัฒน์ คำวชิรพิทักษ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– คุณวุฒิชัย เหมือนทอง นักวิจัยจาก BIOTEC
การเสวนานี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้สอบถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มและความท้าทายของการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในชีววิทยาสังเคราะห์ รวมถึงแนวทางในการผลักดันเทคโนโลยีนี้สู่การใช้งานในภาคอุตสาหกรรม
สรุปและแนวทางในอนาคต
งานสัมมนาสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของ AI ในการขับเคลื่อนชีววิทยาสังเคราะห์ และศักยภาพในการต่อยอดสู่การใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตชีวภัณฑ์ พัฒนาเอนไซม์ และออกแบบเส้นทางชีวเคมีใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในตลาดเทคโนโลยีชีวภาพระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
BIOTEC และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงเดินหน้าสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยในด้านนี้ และสร้างความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อผลักดันให้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป