เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “Dissemination and Recommendations” ณ ห้องกมลทิพย์ 1 โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพมหานคร ภายใต้โครงการ “Review of the Current Landscape and Future Prospects of Engineering Biology in Thailand” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Foreign, Commonwealth and Development Office (FCDO) สหราชอาณาจักร ร่วมกับ Bioeconomy Corporation ประเทศมาเลเซีย และ มูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.)
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาสถานภาพและแนวโน้มของ Synthetic Biology หรือ Engineering Biology ในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการวิเคราะห์ศักยภาพของเทคโนโลยีดังกล่าว รวมถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการพัฒนา ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ การประชุมยังเป็นเวทีสำหรับหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร ในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในภาคอุตสาหกรรม
การประชุมเปิดงานโดย ดร.สริพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จากนั้นมีการนำเสนอผลการศึกษา “Review of the Current Landscape and Future Prospects of Engineering Biology in Malaysia and Thailand” โดย คุณวัชริน มีรอด นักวิจัยนโยบายอาวุโสจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ นอกเหนือจากนี้ยังช่วงของการอภิปราย พร้อมแสดงความคิดเห็นหารือใน 3 ประเด็นสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา Synthetic Biology หรือ Engineering Biology ดังนี้
- แนวทางการพัฒนา Engineering Biology และ Synthetic Biology ในประเทศไทย
- การกำหนดกรอบนโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี
- ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- กลไกสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน
- การพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร
- การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัย
- การพัฒนานโยบายเพื่อสนับสนุนการลงทุนด้าน Engineering Biology
- บทบาทของหน่วยงานระหว่างประเทศในการส่งเสริมเทคโนโลยีชีวภาพ
- โอกาส ความเป็นไปได้ และความท้าทายของ Engineering Biology/Synthetic Biology
- ศักยภาพของประเทศไทยในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
- อุปสรรคด้านกฎระเบียบและแนวทางในการแก้ไข
- โอกาสในการพัฒนาโครงการความร่วมมือในอนาคต
การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ อาทิ หน่วยงานพัฒนานโยบายและหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย ภาคเอกชน รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันการศึกษา ที่มีบทบาทด้านการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งกลุ่มนักลงทุนและผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ Venture Capital และ Deep Tech Startups
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นเวทีสำคัญในการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมกันกำหนดแนวทางพัฒนา Engineering Biology และ Synthetic Biology ในประเทศไทย จากการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ได้มีการสรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการพัฒนา Engineering Biology และ Synthetic Biology ในประเทศไทย โดยเน้น 3 แนวทางหลัก ได้แก่
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและงานวิจัย
- สนับสนุนการวิจัยด้าน synthetic biology ผ่านโครงการวิจัยและพัฒนา (R&D)
- ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์กลางความเป็นเลิศด้าน Engineering Biology ในประเทศไทย
- การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรม
- การจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีชีวภาพ
- การส่งเสริมกลุ่ม Startup และ Deep Tech ที่เกี่ยวข้อง
- การเสริมสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติ
- การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยและนวัตกรรมกับสหราชอาณาจักรและประเทศอื่น ๆ
- การจัดตั้งโครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบุคลากร
การประชุมเชิงปฏิบัติการ “Dissemination and Recommendations” ภายใต้โครงการ “Review of the Current Landscape and Future Prospects of Engineering Biology in Thailand” ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการพัฒนาและขับเคลื่อน Bioeconomy โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความสามารถทางเทคโนโลยี พัฒนางานวิจัย และส่งเสริมการนำ Engineering Biology มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ การประชุมครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยกำหนดทิศทางของการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ แต่ยังเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพให้เติบโตอย่างยั่งยืน