DNA Letter | จดหมายดีเอ็นเอ

SynBio Column Recent Research Roundup | RRR [EP.1]

พิมพ์หนังสือทั้งเล่มด้วยดีเอ็นเอ

 
จดหมายพัสดุของคุณกำลังถูกส่งไปที่บ้านของคุณภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ นี่เป็นข้อความที่เข้ามาในอีเมลของผมหลังจากสั่งซื้อหนังสือที่เขียนลงบนดีเอ็นเอ (DNA) เล่มแรกของ Asimov Press(1) สำนักข่าวออนไลน์ที่ตั้งอยู่ในเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ที่ผลิตผลงานทางด้านชีววิทยาสังเคราะห์ ปัญญาประดิษฐ์ และสาขาที่เกี่ยวข้องออกมามากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในวันที่เขียนบทความนี้ ตัวผมที่ทำงานและอาศัยอยู่ในโซนบอสตันสามารถสั่งซื้อหนังสือทั้งในรูปแบบกระดาษและ DNA ได้ในราคา $60 รวมกับค่าส่งอีก $5 โดยที่ตัวหนังสือ DNA นี้เริ่มเดินทางจากบอสตันในการพิมพ์หนังสือลงบนชิ้นส่วน DNA โดยบริษัท CATALOG ที่เชี่ยวชาญเรื่อง DNA computing แล้วส่งหนังสือในรูป DNA ไปที่ฝรั่งเศสเพื่อให้บริษัท Imagene บรรจุลงในหลอดแคปซูลโลหะด้วยเทคโนโลยี DNAshell ที่เพิ่มความเสถียรของตัว DNA เหล่านี้ จากนั้นจึงส่งหลอดแคปซูลส่วนหนึ่งกลับไปที่แคลิฟอร์เนียเพื่อให้บริษัท Plasmidsaurus อ่านหนังสือ DNA ชุดนี้ด้วยเทคโนโลยี Oxford Nanopore Technologies (ONT) sequencing การกดซื้อหนังสือ DNA เล่มนี้ชวนให้ผมอ่านเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลในรูปแบบของ DNA ขึ้นมาหลาย order of magnitude ดังนั้นผมจึงอยากจะหยิบเอาผลงานวิชาการที่เพิ่งออกมาในปี 2024 มาแชร์ให้ทุกคนตื่นเต้นไปด้วยกันครับ

 

ในปี 2025 โลกเราจะมีข้อมูลมากถึง 200 โกฏิปโกฏิไบต์

 
ความพิเศษของลำดับ DNA ในมุมมองของการเก็บข้อมูลคือการที่ธรรมชาติใช้รหัสอยู่ 4 แบบที่มีโครงสร้างทางเคมีต่างกัน (A, T, G, และ C) ทำให้เราสามารถเก็บข้อมูลต่อหนึ่งหน่วยนับได้ซับซ้อนกว่าเดิมเมื่อเทียบกับการเก็บข้อมูลเป็น bits (0, 1) ที่มาจากรหัสเปิด-ปิดในวงจรคอมพิวเตอร์ ในยุคที่ Generative AI ส่งผลต่อการเกิดใหม่ของข้อมูลแบบก้าวกระโดด การพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลจึงเป็นอีกประเด็นสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อ้างอิงจาก Cybersecurity Ventures(2) มีการคาดการว่าในปี 2025 นี้จะมีปริมาณข้อมูลมากถึง 200 Zettabytes ที่โลกของเราต้องหาที่จัดเก็บ หน่วย Zetta นี้คือหลัก 10 ยกกำลัง 21 นับแบบคำไทยก็มากถึงโกฏิปโกฏิไบต์ (จำยากกว่า Zetta อีก แต่ยังไม่มากโข เพราะมากโขน่าจะเพี้ยนมาจากอักโขภิณีที่นับด้วย 10 ยกกำลัง 42 จะเยอะไปไหน!!!) ซึ่งให้จินตนาการออกมาก็คงยาก เอาเป็นว่าประมาณเก็บเพลง mp3 ได้ราว ๆ เจ็ดล้านล้านเพลง ความบันเทิงของการเก็บข้อมูลใน DNA นี้ก็คือเราอาจจะให้ห้องแค่ห้องเดียวในการเก็บข้อมูลกว่าสองร้อยโกฏิปโกฏิไบต์นี้ ผมเอาไปถาม AI ดูแล้วมันบอกมาว่าน่าจะใช้ DNA ประมาณเกือบ ๆ หนึ่งตัน (1000 กิโลกรัม) สำหรับเทคโนโลยีการเก็บ เขียน และอ่าน DNA ในปัจจุบัน
 
เราลองมาชวนคุยถึงพัฒนาการของระบบการเก็บ เขียน และอ่าน DNA กันอีกหน่อย การเก็บ DNA นี้หากมีข้อได้เปรียบจากธรรมชาติอยู่ก่อนแล้ว เพราะความเสถียรของ DNA นี้มากพอให้เราสกัดออกมาจากซากอารยธรรมโบราณหลักล้านปีก่อนเพื่อนำมาศึกษาได้ หาก DNA ถูกเก็บในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คืออุณหภูมิและความชื้นต่ำ มันอาจจะคงอยู่ได้นับล้านปี เทคโนโลยีการอ่าน DNA ก็มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดนับตั้งแต่การอ่านด้วยวิธิ Sanger sequencing และการพัฒนา Next-Generation sequencing ที่ผลักดันโครงการ Human Genome Project ให้เสร็จก่อนเวลาที่คาดการณ์ไว้ได้ จนกระทั่งเทคโนโลยียุคล่าสุดอย่าง Nanopore sequencing ที่ใช้ในการอ่านหนังสือ DNA ข้างต้น แต่ทว่าการเขียนด้วย DNA นี้ยังตามหลังเทคโนโลยีอื่น ๆ อยู่มากทั้งในด้านความเร็ว ความยาวของสาย DNA ไปจนถึงราคาที่ต้องจ่ายต่อตัวอักษร DNA ที่พิมพ์ออกมา อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีเหล่านี้มีการอัพเกรดขึ้นมาเรื่อย ๆ ในยุคที่เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์เริ่มออกสู่ตลาดและสร้างแรงผลักดันให้กับวงการในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ดังนั้นงานในด้าน DNA Data Storage จึงมักเน้นไปที่กระบวนการ (algorithm) ในการเขียน อ่าน และจัดเก็บชุดข้อมูลให้มีศักยภาพและง่ายต่อการนำมาใช้มายิ่งขึ้น บทความนี้จะหยิบงานที่เพิ่งตีพิมพ์ในด้านนี้มาเล่าให้ฟังแบบคร่าว ๆ

 

แก้โจทย์หมากรุกด้วยการแปะ DNA ไว้บนวัสดุโครงตาข่าย

 
ในช่วงกลางปี 2024 ทีมวิจัยจาก North Carolina State University และ Johns Hopkins University ได้ตีพิมพ์ผลงานเกี่ยวกับการจัดเก็บ อ่าน และประมวลผลด้วย DNA โดยผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีวัสดุ Soft Dendritic Colloids (SDCs)(3) ที่มีโครงร่างตาข่ายคล้ายกับเซลล์ประสาท มาช่วยจับ DNA เพื่อเพิ่มเสถียรภาพในการจัดเก็บทั้งในรูปแบบของแข็งและสารละลาย ทั้งยังเพิ่มความสะดวกในการอ่าน ลบ และเขียนใหม่ การอ่านข้อมูล DNA ถูกยึดอยู่กับ SDC นี้สามารถเข้าถึงได้ด้วยการ transcribe นอกเซลล์ หรือ in vitro transcription (IVT) ให้ DNA กลายเป็น RNA คล้ายกับการอ่านข้อมูล DNA ของสิ่งมีชีวิตเอง ซึ่งกระบวนการนี้สามารถแยก RNA ออกจาก DNA ได้ง่าย ๆ ด้วยโมเลกุลแม่เหล็กที่ช่วยยึดเอาวัสดุ SDC-DNA นี้เอาไว้ในช่องเล็ก ๆ (microfluidic) และนำเอา RNA ที่ว่านี้มาคัดลอกเป็น DNA เพื่ออ่านข้อมูลด้วยวิธี Next-Generation sequencing หรือนำ RNA ไปอ่านด้วยเทคโนโลยี Nanopore โดยตรงเลยก็ได้ เทคโนโลยีการอ่าน RNA sequence ด้วย ONT นี้เป็นระบบที่ค่อนข้างใหม่ ทางทีมวิจัยจึงต้องร่วมพัฒนาระบบการทำงานในส่วนนี้เช่นกัน นอกจากนี้หากต้องการลบดีเอ็นเอทั้งหมด หรือบางส่วน ออกจาก SDC-DNA ก็สามารถทำได้โดยการเติมเอนไซม์ที่ตัด DNA ทั้งแบบจำเพาะ (ลบบางส่วน) และแบบไม่จำเพาะ (ลบทั้งหมด) และสามารถเติมข้อมูลชุดใหม่ (reload) ลงไปใน SDC ได้เช่นกันสำหรับการอ่านครั้งถัดไป กล่าวคือเราสามารถใช้ composite material อย่าง SDC-DNA ในการอ่าน ลบ (บางส่วน) เขียนใหม่ ซ้ำ ๆ ไปได้เรื่อย ๆ ซึ่งทางทีมวิจัยก็ได้ทดลองอ่านซ้ำด้วย IVT กว่าสิบครั้งก็ยังคงได้ข้อมูลที่มีคุณภาพสูงอยู่ กระบวนการที่ถูกออกแบบมาอย่างแยบยลนี้จึงช่วยให้ทีมวิจัยสามารถใช้ SDC-DNA ในการคำนวณเพื่อแก้ปัญหาในเกมระดับง่าย ๆ อย่างสุโดกุ (Sudoku) หรือหมากรุก (Chess) เพื่อเป็นการแสดงขีดความสามารถของการคำนวณด้วยระบบชีวภาพ (Biocomputing) ออกมาให้คนอ่านอย่างเราได้อ้าปากค้างกันไปพักใหญ่ ด้วยความที่การคำนวณระบบชีวภาพนี้มีเทคนิคที่ซับซ้อนระดับหนึ่ง เลยอาจจะมีคำศัพท์เทคนิคเข้ามาอธิบายมากสักหน่อยนะครับ
 
ในงานนี้ทีมวิจัยทดลองแก้ปัญหาในเกมกระดานขนาด 3×3 โดยใช้หลักการของหมากรุก (Chess) และสุโดกุ (Sudoku) มาใช้ โดยการแบ่งชิ้นส่วนของ DNA ออกเป็นกลุ่มที่บ่งชี้ถึงตำแหน่งบนตาราง และมีลำดับ DNA อีกส่วนหนึ่งที่บอกว่าบนตำแหน่งนั้นจะมีหมากหรือตัวเลขอะไรอยู่ ในที่นี้ก็จะมีความเป็นไปได้ 3 รูปแบบ เช่นในกรณีของ Sudoku ก็จะเป็นเลข 1, 2, หรือ 3 ส่วนหากเป็นหมากรุกก็จะเป็น knight (ม้า), bishop (บาทหลวง), หรือไม่มีหมากอยู่ (null) ทางทีมวิจัยตั้งโจทย์ออกมา 3 ข้อ โดยข้อแรกและข้อสองขึ้นกับหลักการเล่นหมากรุก ข้อแรกให้มี knight สีขาวตั้งอยู่มุมซ้ายบน ส่วนข้อสองเติม bishop สีขาวไว้ใต้ knight อีกตัวหนึ่ง แล้วตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้วางหมากสีดำโดยที่จะไม่ถูกโจมตีโดยหมากสีขาวที่ตั้งไว้อยู่แล้ว สำหรับข้อสามเป็น Sudoku กระดานง่าย ๆ คือมีเลข 4 ตัวอยู่บนกระดานเดิมแล้วให้เติมตัวเลขที่เหลือให้ตรงกับหลักการของ Sudoku หากว่าเราเคยเล่น Chess หรือ Sudoku มาบ้าง เราคงจะพอวาดคำตอบออกมาได้ไม่ยาก แต่เราจะทำอย่างไรให้ DNA ที่เราเก็บข้อมูลไว้อย่างนี้บอกชุดคำตอบที่ถูกต้องออกมาได้ล่ะ ทางทีมวิจัยเล่าว่าเขาย้อนกระบวนการไปถึงงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2000 นู้น ที่ใช้ RNase H เอนไซม์ที่จะตัดเฉพาะสายคู่ระหว่าง DNA กับ RNA เท่านั้น ประกอบกับการที่ระบบ SDC-DNA นี้สามารถใช้ IVT สร้าง RNA ได้เรื่อย ๆ ทางทีมจึงได้ติดตั้ง promoter ที่จำเพาะกับโจทย์แต่ละข้อเอาไว้ (T7, Sp6, และ T3 promoters) เวลาที่ทำ IVT จะได้อ่านถูกข้อด้วยเอนไซม์ที่จำเพาะกับ promoter ข้อนั้น โดยชุดข้อมูลนั้นมีชุดคำตอบที่เป็นไปได้ทั้งหมดติดตั้งอยู่ใน SDC-DNA อยู่เดิมแล้วจะได้ไม่ต้องกลับไปแก้ไขที่ตัวเก็บข้อมูล คล้ายกับเวลาเรามั่ว password เวลาไม่ได้เข้าไปเล่นเกมออนไลน์นาน ๆ วิธีการหาทำตอบที่ถูกก็คือการป้อนคำสั่งโดยการโยนชุด DNA สังเคราะห์ขึ้นมาลงไปในระบบเพื่อให้เกิดสายคู่ DNA-RNA duplex พร้อมกับ RNase H และทำลายชิ้นส่วน DNA-RNA ที่ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายทิ้งไปก่อนจะนำไปอ่านข้อมูล ตรงนี้เองที่เป็นจุดที่ Biocomputing ได้ทำงาน การที่ทีมวิจัยเลือกที่จะเติม DNA เฉพาะชุดที่เป็นคำตอบที่ผิดลงไปในหลอดทดลอง ดังนั้นเจ้า enzyme RNase H จึงกำจัดสาย RNA ที่เป็นคำตอบที่ผิดออกไป เหลือเพียงคำตอบที่ถูกต้องที่จะถูกแยกออกมาเพื่อนำไปอ่านด้วย Nanopore ต่อไป ผลงานชิ้นนี้นับว่ามีหลักการล้ำ ๆ อยู่หลายจุด จัดว่าเป็นหมุดหมาย (milestone) ที่สำคัญของวงการชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว

โรเนียวข้อมูลด้วยตัวเรียงพิมพ์ DNA ที่ใคร ๆ ก็ใช้เป็น

 
อีกผลงานหนึ่งที่น่าสนใจตีพิมพ์ในช่วงปลายปี 2024 จากทีมวิจัยรวมทั้งจากรัฐ Arizona ในอเมริกา จาก Beijing ประเทศจีน และจาก Stuttgart ในเยอรมนี ได้ยกกระบวนการดัดแปลง DNA ที่อยู่นอกเหนือไปจากรหัส DNA ทั่วไปอย่างกระบวนการ DNA Methylation(4) ที่ส่งผลต่อการแสดงออกของยีนและนำไปสู่การศึกษาพันธุศาสตร์แขนงใหม่ที่เรียกว่า Epigenetics (epi- เป็นคำกรีก แปลว่า เหนือ หรือ over/on ในภาษาอังกฤษ) โดยในงานวิจัยนี้ทางทีมได้เสนอกระบวนการเขียนแบบใหม่ แทนที่จะยึดกับการเขียนรหัส ATGC ที่ยังคงต้องพัฒนาไปอีกสักระยะจึงจะคุ้มค่ากับการเอามาเก็บข้อมูล ทำไมถึงไม่ลองใช้การเขียนลงไปบน DNA อย่างที่กลไกลทางธรรมชาติใช้ในกระบวนการ Epigenetics ดูล่ะ ในงานนี้ทางทีมได้ออกแบบชุด DNA ที่สามารถเติมหมู่ methyl ด้วยเอนไซม์ได้ตามการออกแบบขึ้นมา ทำให้สามารถเขียนทับลงบน DNA ได้หลาย ๆ ชุดพร้อมกัน แล้วจึงจัดกลุ่มข้อมูลของชุด DNA ในรูปแบบของ Epi-bits ก็คือถ้ามีหมู่ methyl ก็นับเป็น 1 ถ้าไม่มีก็นับเป็น 0 หากอ่านสาย DNA ยาว ๆ ก็จะเห็นรหัสคล้าย ๆ กับที่อ่านได้จากคอมพิวเตอร์ทำให้รูปแบบของการเขียนอ่านข้อมูลเป็นไปได้ไม่ซับซ้อนเหมือนกับการอ่านข้อมูล DNA ที่จะต้องมีการแปลรหัส ATCG แบบออกมาเป็นรหัส 0/1 ที่ใช้ในระบบคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว ตรงนี้ผู้ใช้จึงสามารถลงมือแปลงและถอดรหัสโดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ระบบการแปลงข้อมูลระหว่าง DNA sequence กับ Digital data
 
การออกแบบดังกล่าวนี้สามารถเกิดขึ้นได้ก็เพราะว่าเรามีเทคโนโลยีการอ่าน DNA methylation pattern ที่ราคาถูกลงมากอย่าง Oxford Nanopore Technology ที่นอกจากจะอ่านข้อมูลของ DNA ได้ระดับโมเลกุลเดี่ยว (single molecule) ในสารละลายที่ปนกันแล้ว ยังช่วยบอกได้ด้วยว่าลำดับ DNA ส่วนไหนมีการเติมหมู่ methyl ลงไปโดยที่ไม่ต้องเพิ่มสารเคมีพิเศษลงไปเลย(5) เพราะว่าการอ่านข้อมูลแบบ ONT นี้จะให้ข้อมูลออกมาในรูปแบบของกระแสไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปการผ่านช่องแคบของสาย DNA นั่นเอง ลองนึกถึงการพายเรือข้ามคลองเล็ก ๆ ถ้าเรือรูปร่างต่างกันก็จะส่งผลต่อกระแสน้ำต่างกันออกไปคล้ายกับกระแสไฟฟ้าที่ได้ผลกระทบจากลักษณะของ DNA ดังนั้นการเพิ่มหมู่ methyl ลงไปจึงทำให้โครงสร้างทางเคมีของ DNA ใหญ่ขึ้นและส่งผลกับคลื่นกระแสไฟฟ้าของแต่ละชิ้นส่วน DNA ที่เรานำมาวิเคราะห์ด้วย ONT ด้วยทางทีมวิจัยมุ่งหวังจะให้กระบวนการนี้เก็บข้อมูลได้มาก ๆ จึงทำการประยุกต์ใช้หลักของการเรียงพิมพ์ (typesetting) ที่แพร่หลายในการพิมพ์ในยุคตั้งต้นมาใช้ ในขั้นต้นนั้น ทางทีมได้สร้าง DNA ชิ้นเล็ก ๆ เหมือนกับการสร้างแป้นพิมพ์แล้วนำชิ้นส่วนเหล่านี้มาเรียงต่อกันบน DNA อีกเส้นหนึ่งเหมือนกับที่โรงพิมพ์สมัยก่อนต้องเอาตัวอักษรมาเรียงไว้บนแป้นพิมพ์ จากนั้นจึงนำเอากระดาษ (DNA อีกเส้น) มาคัดลอกหมึกด้วยเอนไซม์ (methylation pattern) ลงไปตามลำดับอักษรที่เรียกไว้ เมื่อนำเอา algorithm อื่น ๆ ที่ใช้ในวงการเก็บข้อมูล DNA อย่างการติดบาร์โค้ด (DNA barcoding) ที่ช่วยเหมือนกับการเขียนตัวเลขไว้บนเซียมซี DNA แต่ละเส้น ทำให้เราสามารถเอาข้อมูลที่มีมาเรียงเป็นรูปร่างขึ้นมาได้ และหากทำการเรียงพิมพ์นี้พร้อม ๆ กันหลายร้อยหลายพันชิ้นก็จะสามารถป้อนข้อมูลลงบนชุดเซียมซีที่ใหญ่ขึ้นได้จนได้รูปที่มีความละเอียดชัดขึ้นไปอีก สุดท้ายทีมวิจัยก็ยังนำเอากระบวนการที่ว่าไปให้อาสาสมัครทดลองออกแบบและลงมือพิมพ์ข้อมูล Epi-bits ลงบนเส้น DNA ขึ้นมาจริง ๆ แม้ว่าการอ่านผลจะพบว่ามีการพิมพ์ผิดอยู่บ้างแต่ก็สามารถแก้ไขสะกดผิดในประโยคเหล่านั้นด้วย Large Language Model AI ได้อย่างง่ายดาย ผลงานชิ้นนี้นับว่าเป็นการประยุกต์ทั้งศาสตร์ทางชีววิทยาสังเคราะห์และศิลปะของการพิมพ์ที่มีการพัฒนามาหลายร้อยปีมามัดรวมกันในการเก็บข้อมูลลงบน DNA ได้อย่างมีสีสันจนหลายคนแห่กันแชร์รูปหมีแพนด้าในงานจนไวรัลกันไปพักหนึ่งเลยทีเดียว

 

ก้าวข้ามขีดจำกัดด้วยการเพิ่มรหัส DNA แล้วเอาไปเก็บไว้ในสิ่งมีชีวิต

 
งานทั้งสองชิ้นนี้ที่ยกมานี้เป็นตัวอย่างการออกแบบกระบวนการเก็บข้อมูลบน DNA ที่แฝงหลักการผสมผสานระหว่างองค์ความรู้หลายแขนงเข้าด้วยกัน และยังได้รับแรงผลักดันจากเทคโนโลยีใหม่ (enabling technology) อย่าง ONT เข้ามาช่วยให้การออกแบบนี้เรียบง่ายและคุ้มค่าใกล้กับการใช้งานจริงมากขึ้น นอกเหนือจากด้านการจัดเก็บข้อมูลแล้ว การพัฒนาวงการ DNA Data Storage ยังสามารถทำได้ในอีกหลายแง่มุมทั้งด้านการขยายขีดจำกัดของรูปแบบ DNA ไปจนถึงกระบวนการจัดเก็บในสิ่งมีชีวิต ตัวอย่างที่สำคัญของการออกจากกรอบธรรมชาติคือการคิดค้นรหัส DNA ชุดใหม่จาก 4 อักขระให้เป็น 8 อักขระ (DNA Hachimoji) ในปี 2019(6) ที่สามารถถอดรหัสจาก DNA ให้เป็น RNA ได้ จนไปถึงการพัฒนาล่าสุดเพิ่มเป็น 12 อักขระที่ใช้เอนไซม์เขียนพร้อมกับการคิดค้นวิธีอ่านด้วย ONT ไปพร้อม ๆ กัน(7) ในด้านของการเก็บของมูลในสารพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตเองก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่น่าสนใจ ด้วยกระบวนการเพิ่มจำนวนและซ่อมแซม DNA นั้นมีความจำเป็นในการแบ่งเซลล์และเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด การเก็บและคัดลอกข้อมูลในเซลล์จึงมีความน่าสนใจไม่แพ้การเก็บ DNA ในหลอดทดลอง การบันทึกข้อมูลในเซลล์นี้สามารถเขียนลงบนจีโนม (Genome) โดยตรง หรือโดยการเขียนลงบนพลาสมิด (Plasmid) ที่สามารถแยกชิ้นส่วนออกมาจากจีโนมมาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยี ONT ได้ในราคาที่ถูกลงเรื่อย ๆ บริษัท Plasmidsaurus ที่ถูกกล่าวถึงในช่วงแรก ๆ ของบนความนั้นให้บริการอ่าน plasmid ทั้งวงในราคาเพียงแค่ 15$ ต่อหนึ่งหลอด ซึ่งในหลอดนั้นอาจจะใส่ Plasmid DNA ไปมากกว่าหนึ่งชิ้นก็ได้ การบรรจุ Plasmid DNA ลงในแบคทีเรียนั้นมีหลักการที่ต้องคำนึงถึงอยู่หลายประเด็นซึ่งอาจจะนำมาเล่าให้ฟังในวาระถัดไป(8) (หากบทความที่ผมส่งไปได้รับตีพิมพ์นะครับ)
 
ในยุคสมัยที่ผันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่ที่เราเก็บข้อมูลได้แค่หลัก Megabytes ใน Floppy Disk (ที่มาของไอคอน Save ในโปรแกรมต่าง ๆ ใครเกิดไม่ทันลองไปอ่านดูนะ) มาจนยุคที่เราเก็บใน Thumb Drive ที่ขนาดเท่านิ้วมือแต่เก็บข้อมูลได้หลัก Terabytes การเก็บข้อมูลยุคอนาคตอันใกล้อาจจะเปลี่ยนไปเป็นหลอด DNA ที่เก็บข้อมูลระดับปโกฎิไบต์เอาไว้ห้อยคอแทนพระเครื่องก็เป็นได้ ส่วนตัวผมเองก็คงเก็บ DNA แคปซูลที่บรรจุหนังสือเล่มแรกที่เขียนด้วย DNA เอาไว้เป็นจดหมายถึงตัวเองในอนาคต เผื่อว่าสักวันหนึ่งจะทุบมันออกมารำลึกความหลังสมัยที่เรายังไม่มีเครื่องพิมพ์อักขระชีวภาพ (DNA Printer) ไว้ใช้ทั่วไป คล้ายกับการที่เราสามารถมีเครื่องพิมพ์กระดาษแทบทั่วทุกบ้านในทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าก่อนการเรียงพิมพ์ (Typesetting) จะถูกคิดค้นโดย Johannes Gutenberg ในศตวรรษที่ 15 เรายังต้องคัดลอกเอกสารด้วยมือแบบที่สมัยเด็ก ๆ เราต้องลอกการบ้านจากเพื่อนลงสมุดส่งครูกันทุกเช้า แฮร่!!! ผมหมายถึงลอกโจทย์ครับ คำตอบเขียนเอง

References
 

(1) Xander, B.; McCarty, N. Asimov Press’ New Book, Written in DNA. Asimov Press. https://press.asimov.com/articles/technology-book (accessed 2025-01-25).

(2) Morgan, S. The World Will Store 200 Zettabytes Of Data By 2025. Cybercrime Magazine.

(3) Lin, K. N.; Volkel, K.; Cao, C.; Hook, P. W.; Polak, R. E.; Clark, A. S.; San Miguel, A.; Timp, W.; Tuck, J. M.; Velev, O. D.; Keung, A. J. A Primordial DNA Store and Compute Engine. Nat. Nanotechnol. 2024, 19 (11), 1654–1664. https://doi.org/10.1038/s41565-024-01771-6.

(4) Zhang, C.; Wu, R.; Sun, F.; Lin, Y.; Liang, Y.; Teng, J.; Liu, N.; Ouyang, Q.; Qian, L.; Yan, H. Parallel Molecular Data Storage by Printing Epigenetic Bits on DNA. Nature 2024, 634 (8035), 824–832. https://doi.org/10.1038/s41586-024-08040-5.

(5) Oxford Nanopore Technologies. Epigenetics and methylation analysis. https://nanoporetech.com/applications/investigations/epigenetics-and-methylation-analysis (accessed 2025-01-25).

(6) Hoshika, S.; Leal, N. A.; Kim, M.-J.; Kim, M.-S.; Karalkar, N. B.; Kim, H.-J.; Bates, A. M.; Watkins, N. E.; SantaLucia, H. A.; Meyer, A. J.; DasGupta, S.; Piccirilli, J. A.; Ellington, A. D.; SantaLucia, J.; Georgiadis, M. M.; Benner, S. A. Hachimoji DNA and RNA: A Genetic System with Eight Building Blocks. Science 2019, 363 (6429), 884–887. https://doi.org/10.1126/science.aat0971.

(7) Kawabe, H.; Thomas, C. A.; Hoshika, S.; Kim, M.-J.; Kim, M.-S.; Miessner, L.; Kaplan, N.; Craig, J. M.; Gundlach, J. H.; Laszlo, A. H.; Benner, S. A.; Marchand, J. A. Enzymatic Synthesis and Nanopore Sequencing of 12-Letter Supernumerary DNA. Nat. Commun. 2023, 14 (1), 6820. https://doi.org/10.1038/s41467-023-42406-z.

(8) Kiattisewee, C. How Many Plasmids Can Bacteria Carry? A Synthetic Biology Perspective. Manuscript Submitted.

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความ
Synthetic Biology: เมื่อมนุษย์กลายเป็นนักประดิษฐ์ชีวิต [EP.1]    “ยุคนี้คือยุคแห่ง ai แต่ยุคต่อไปคือยุคของเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology)” เพราะความก้าวหน้าแห่งเทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่อาจจะทำให้ “มนุษย์ทำอะไรต่อมิอะไรได้ไม่ต่างพระเจ้า”   ประโยคนี้แม้จะฟังดูอหังการ์ แต่ว่าก็มีเค้ารางของความเป็นจริ...
บทความ
มาทำความรู้จัก Synbio นวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในระดับ DNA ไปจนถึงพลิกโลกอุตสาหกรรม. Synthetic Biology เรียกย่อว่า SynBio หรือ ชีววิทยาสังเคราะห์ คือ การออกแบบ สร้าง ปรับแต่ง ไปถึงระดับ DNA เพื่อให้เซลล์เกิดการทำงานในรูปแบบใหม่ หรือพัฒนาไปในทางอื่นๆ ที่ดีขึ้น ซึ่ง SynBio นี้จะคล้ายคลึงกับการพั...
บทความ
ผศ. ดร. ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หรือผู้ก่อตั้ง Facebook page “Biology Beyond Nature: ชีววิทยาเหนือธรรมชาติ” ที่มีผู้ติดตามกว่า 46k คน ได้ปล่อยซีรี่ย์การสอนหัวข้อ  “ชีววิทยาสังเคราะห์และพันธุวิศวกรรมระดับจีโนม” ทั้งหมด 12 ตอน ท่านใดที่สน...